คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต
    ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตทำให้การติดต่อสื่อสารข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออินเทอร์เน็ตมีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้นเท่าใด อินเทอร์เน็ตย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อสังคม ดังนี้
 ผลกระทบทางบวก
         อินเทอร์เน็ตมีผลกระทบทางบวกต่อสังคม ดังนี้
         1.   ทำให้มีความสะดวกในการติดต่อสื่อสารในเครือข่ายขนาดใหญ่ กล่าวคือ ทำให้คนในสังคมติดต่อสื่อสารได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา
         2.   ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การติดต่อสื่อสารผ่านอีเมล การประชุมทางไกลผ่านเครือข่าย
         3.   ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำให้เกิดการศึกษารูปแบบใหม่ที่กระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้เกิดความสนุกในการเรียนรู้ อีกทั้งทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ได้แก่ ระบบการเรียนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต (e-learning)

 ผลกระทบทางลบ
         อินเทอร์เน็ตมีผลกระทบทางลบต่อสังคม ดังนี้
        1.   ก่อให้เกิดความเครียดของคนในสังคม กล่าวคือ อินเทอร์เน็ตทำให้คนในสังคมเข้าถึงข้อมูลมากมายมหาศาล สภาพสังคมจึงเปลี่ยนเป็นสังคมฐานความรู้ หรือสังคมที่ใช้ความรู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น จึงเกิดการแข่งขันด้านเศรษฐกิจกันอย่างรุนแรง ซึ่งการตัดสินใจในการทำงานต้องใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพ เพื่อให้ตัดสินใจได้ถูกต้อง ทำให้คนในสังคมเกิดความกดดันและเกิดความเครียดสูงขึ้น
         2.   เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นในสังคม เช่น การแต่งกายที่ไม่เหมาะสมของเยาวชน การติดเกมประเภทความรุนแรง เป็นต้น
         3.   เกิดช่องว่างระหว่างคนในสังคม เนื่องจากคนในสังคมใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมลดลง จนเกิดคำพูดที่ว่า “เทคโนโลยีทำให้คนไกลใกล้กันมากขึ้น แต่เทคโนโลยีก็ทำให้คนใกล้ไกลมากขึ้น” กล่าวคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้คนที่อยู่ไกลกันสามารถสื่อสารได้เหมือนอยู่ใกล้กัน ในขณะที่ทำให้คนที่อยู่ใกล้กันเกิดความห่างไกลกันมากขึ้น เช่น คนในครอบครัวที่ต่างคนต่างคุยกับเพื่อนในอินเทอร์เน็ต จึงมีเวลาพูดคุยกับคนในครอบครัวน้อยลง
         4.   เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นโลกเสรีที่ให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นร่วมกันได้ แต่การแสดงความคิดเห็นที่ไร้ขอบเขต ย่อมส่งผลต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น การนำข้อมูลส่วนบุคคลออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจไม่เป็นจริงหรือไม่ได้พิสูจน์ความถูกต้อง การแสดงความคิดเห็นด้วยถ้วยคำที่รุนแรงต่อบุคคลผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
         5.   อาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ผู้ไม่หวังดีอาจใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด เช่น การล่อลวงผู้ที่เล่นอินเทอร์เน็ตและก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศ การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในแง่มุมต่างๆ ทั้งภาพลามกอนาจาร การพนันออนไลน์  การจำหน่ายของผิดกฎหมาย การส่งไวรัสไปทำลายข้อมูลของผู้อื่น เป็นต้น


   


มารยาท ระเบียบและข้อบังคับในการใช้อินเทอร์เน็ต
 จากปัญหาการล่อลวงอินเกิดจากการเล่นอินเทอร์เน็ตที่นับวันจะยิ่งมีมากขึ้น ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้พยายามหามาตรการป้องกันปัญหาและภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเกิดจากคนที่ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อทั้งตนเอง และสังคม เพื่อหลีกเลี่ยงและรับมือกับความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ ทั้งนี้รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ ได้กล่าวถึง บัญญัติ 10 ประการ ซึ่งเป็นจรรยาบรรณที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรยึดถือไว้เสมือนเป็นแม่บทของการปฏิบัติ ซึ่งผู้ใช้พึงระลึกและเตือนความจำเสมอ ดังนี้
    1.   ต้องไม่ให้คอมพิวเตอร์ทำร้าย หรือละเมิดผู้อื่น เช่น ไม่เผยแพร่ข้อความกล่าวหาบุคคลอื่นให้ได้รับความเสียหาย ไม่เผยแพร่รูปภาพลามกอนาจาร เป็นต้น
    2.   ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์รบกวนการทำงานของผู้อื่น เช่น การเล่นเกมหรือเปิดเพลงด้วยคอมพิวเตอร์รบกวนผู้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง
    3.   ต้องไม่สอดแนม แก้ไข หรือเปิดดูแฟ้มข้อมูลของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต
    4.   ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร
    5.   ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จ
    6.   ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์คัดลอกหรือใช้โปรแกรมของผู้อื่นที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต
    7.   ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ละเมิดการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์
    8.   ต้องไม่นำเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
    9.   ต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอันเป็นผลมาจากการกระทำของตน
    10. ต้องใช้คอมพิวเตอร์โดยเคารพกฎ ระเบียบ กติกา และมีมารยาทของหน่วยงาน สถาบันหรือสังคมนั้นๆ



www.kmutt.ac.th/gmi
wutthimanop@gmail.com